ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

The ASSURE Model กับการสอน

The ASSURE Model การใช้สื่อการสอนอย่างเป็นระบบ โดยใช้แบบจำลอง

ในการใช้สื่อการสอนนั้น ผู้สอนควรจะมีการวางแผนการใช้สื่ออย่างรัดกุม และเป็นระบบ ทั้งนี้เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปฎิบัติ ซึ่งจะทำให้ผู้สอนเกิดความมั่นใจในการใช้สื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้สูงสุด ตามความสามารถของแต่ละบุคคล และตรงตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่วางไว้ การวางแผนการใช้สื่อการสอนโดยใช้แนวคิดของ วิธีระบบ เป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้การวางแผนการใช้สื่อการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ " The ASSURE Model" เป็นแบบจำลองที่ได้รับความนิยมในการนำไปใช้ เพื่อวางแผนการใช้สื่อกสารสอนอย่างมีประสิทธิภาพ (Heinich, และคณะ)

แบบจำลอง The ASSURE Model มีรายละเอียดดังนี้
Analyze learners  การวิเคราะห์ลักษณะผู้เรียน
State objectives    การกำหนดวัตถุประสงค์
Select instructional methods, media, and materials การเลือก ดัดแปลงหรือออกแบบสื่อใหม่
Utilize media and materials  การใช้สื่อ
Require learner participation  การกำหนดการตอบสนองของผู้เรียน
Evaluate and revise  การประเมินการใช้สื่อ


การสอนโดยใช้ ASSURE Model เป็นหลัก

ขั้นแรกเลือกวิชาที่ตนถนัด ในกรณีนี้ ผู้เขียนเลือกสอนวิชาภาษาไทยในเรื่องการอ่านคำควบกล้ำ   ล ร และ ว ในระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งในแต่ละขั้นตอนการสอนจะเชื่อมโยงกับ ASSURE Model ดังนี้

          1.Analyze learners  การวิเคราะห์ลักษณะผู้เรียน

การวิเคราะห์ลักษณะของผู้เรียน จะทำให้ผู้สอนเข้าใจลักษณะของผู้เรียนและสามารถเลือกใช้สื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนและบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอน การวิเคราะห์ผู้เรียนนั้นจะวิเคราะห์ใน 2 ลักษณะ คือ
1. ลักษณะทั่วไป เป็นลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่จะสอน แต่เกี่ยวข้องกับการเลือกใช้สื่อการเรียนการสอนโดยตรง ได้แก่ เพศ อายุ ชั้นปีที่เรียน ระดับสติปัญญา ความถนัด วัฒนธรรม สังคม ฯลฯ
2. ลักษณะเฉพาะ เป็นลักษณะที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่จะสอน ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกวิธีการสอนและสื่อการเรียนการสอน ได้แก่
2.1 ความรู้และทักษะพื้นฐานของผู้เรียนในเนื้อหาที่จะสอน
2.2 ทักษะที่เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น ทักษะด้านภาษา คณิตศาสตร์ การอ่าน และการใช้เหตุผล
2.3 ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จะสอนนั้นหรือยัง
2.4 ทัศนคติของผู้เรียนต่อวิชาที่จะเรียน

ในขั้นตอนดังกล่าว ผู้สอนจะต้องวิเคราะห์ผู้เรียนตามจริง ไม่เอนเอียงใดๆ ในกรณีนี้ ผู้เขียนเลือกสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 วิชาภาษาไทย เรื่องการอ่านคำควบกล้ำ ล ร และ ว  นักเรียนที่จะสอนในห้อง ชื่อ น้องเอ (นามสมมติ) อายุ 9 ปี เพศชาย เป็นลูกครึ่งไทย-อังกฤษ พูดภาษาอังกฤษได้คล่องและชัดเจน แต่สำเนียงการพูดภาษาไทยไม่ชัดเท่าที่ควร
ก่อนการตั้งจุดประสงค์การสอน ครูควรทำการวัดระดับความสามารถปัจจุบันเด็กก่อน เพื่อดูว่าเด็กมีพื้นฐานการอ่านภาษาไทยมากน้อยเพียงใด รวมไปถึงการพูดคุยทำความรู้จักกับเด็ก สังเกตท่าทีและอารมณ์ในระหว่างการสอนในห้อง เพราะทัศนคติของผู้เรียนต่อวิชาดังกล่าวก็สำคัญ หากผู้เรียนไม่มีใจรักในการเรียนสิ่งนั้นแล้ว ย่อมไม่เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง
ทั้งนี้ครูจะต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับข้อมูลพื้นฐานนักเรียนเหล่านี้ เพื่อนำมาเป็นข้อสรุปในการตั้งเป้าหมายในขั้นต่อไป 

2.State objectives   การกำหนดวัตถุประสงค์

การเรียนการสอน ในแต่ละครั้งต้องกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน ซึ่งควรเป็นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม ที่กำหนดความสามารถของผู้เรียนว่าจะทำอะไรได้บ้าง ในระดับใด และภายใต้เงื่อนไขใดไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถเลือกใช้วิธีการสอนและสื่อการเรียนการสอนได้เหมาะสม
วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมที่กำหนดขึ้นสำหรับการเรียนการสอนแต่ละครั้ง ควรให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ทางการศึกษาทั้ง 3 ด้าน คือ
1. พุทธิพิสัย เป็นวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เพื่อวัดการเรียนรู้ของผู้เรียนเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ สติปัญญา และการพัฒนา
2. จิตตพิสัย เป็นวัตถุประสงค์ทางด้านความคิด ทัศนคติ ความรู้สึก ค่านิยมและการเสริมสร้างทางปัญญา
3. ทักษะพิสัย เป็นวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับการกระทำ การแสดงออกหรือการปฏิบัติ
                        เมื่อครูผู้สอนทำการทดสอบก่อนเรียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทราบระดับความสามารถปัจจุบันผู้เรียน ก็มาถึงในขั้นของการกำหนดวัตถประสงค์ โดยอ้างอิงจากผลการทดสอบ สมมติว่า น้องเอ อ่านคำควบกล้ำได้ทั้งหมด 7 จาก 20 คำ ครูไม่ควรที่จะตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินขีดความสามารถ เนื่องจากเมื่อเด็กทำคะแนนได้ไม่ดี เด็กจะเกิดความรู้สึกท้อแท้และหมดหวังในการเรียนมากกว่าเดิม
            ดังนั้น วัตถุประสงค์และเกณฑ์ที่กำหนด ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสามารถปัจจุบันนักเรียน เช่น เด็กชายเอ สามารถอ่านคำควบกล้ำ ร ได้ 10 คำขึ้นไป จาก 20 คำ เป็นต้น จากนั้นเมื่อเด็กพัฒนาทักษะการอ่านได้ดีขึ้นแลว จึงสามารถปรับระดับความยากและเกณฑ์ได้ตามความเหมาะสม


3.Select instructional methods, media, and materials การเลือก ดัดแปลงหรือออกแบบสื่อใหม่

การที่จะมีสื่อที่เหมาะสมในการเรียนการสอนนั้น สามารถทำได้ 3 วิธีด้วยกัน คือ
การเลือกสื่อที่มีอยู่แล้ว  เป็นการพิจารณาเลือกสื่อการเรียนการสอน ที่มีอยู่แล้วจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอน การเลือกสื่อที่มีอยู่แล้วควรมีเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้ 
• ลักษณะผู้เรียน
• วัตถุประสงค์การเรียนการสอน
• เทคนิคหรือวิธีการเรียนการสอน
• สภาพการณ์และข้อจำกัดในการใช้สื่อการเรียนการสอนแต่ละชนิด

การปรับปรุง หรือดัดแปลงสื่อที่มีอยู่แล้ว  กรณีที่สื่อการเรียนที่มีอยู่แล้วไม่เหมาะสมกับการใช้ในการเรียนการสอน ให้พิจารณาว่าสามารถนำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การเรียนการสอนได้หรือไม่ ถ้าปรับปรุงได้ก็ให้ปรับปรุงก่อนนำไปใช้
การออกแบบสื่อใหม่   กรณีที่สื่อการเรียนการสอนที่มีอยู่ไม่สามารถนำมาใช้ได้หรือไม่เหมาะสมที่จะนำมาปรับปรุงใช้ หรือไม่มีสื่อการเรียนการสอนที่ต้องการใช้ในแหล่งบริการสื่อการเรียนการสอนใดเลย ก็จำเป็นต้องออกแบบและสร้างสื่อการเรียนการสอนขึ้นมาใหม่

 ซึ่งครูมีหน้าที่ในการทำสื่อการสอน อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ครูไม่จำเป็นต้องผลิตสื่อขึ้นมาใหม่ อาขใช้วัสดุเหลือใช้ หรือใช้สื่อเดิมก็ได้ ในกรณีตัวอย่างน้องเอ สอนการอ่านคำควบกล้ำ สื่อที่ควรมีคือสื่อบัตรคำ / รูปภาพ เพื่อให้เด็กเห็นภาพชัดเจนและเข้าใจบทเรียนมากยิ่งขึ้น และสื่อที่ดีจะต้องมาความแข็งแรง คงทนต่อการใช้งาน  สามารถยืดหยุ่นได้ ใช้ได้หลายรูปแบบ เพื่อไม่ให้เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาน

4.Utilize media and materials  การใช้สื่อ

ขั้นตอนการใช้สื่อการเรียนการสอน มีขั้นตอนที่สำคัญอยู่ 4 ขั้นตอน คือ
1. ดูหรืออ่านเนื้อหาในสื่อ / ทดลองใช้   ก่อนนำสื่อการเรียนการสอนใดมาใช้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการตรวจสอบเนื้อหาว่าตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ และทดลองใช้ดูว่ามีปัญหาหรือไม่ ถ้ามีจะได้แก้ไขปรับปรุงได้ทัน
2. เตรียมสภาพแวดล้อม / จัดเตรียมสถานที่  การที่จะใช้สื่อการเรียนการสอนจำเป็นที่ต้องมีการเตรียมสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก แสง การระบายอากาศ และอื่น ๆ ให้เหมาะสมกับการใช้สื่อการสอนแต่ละชนิด
3. เตรียมผู้เรียน  ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้จากการใช้สื่อการเรียนการสอนได้ดีนั้น จะต้องมีการเตรียมผู้เรียนให้พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้น ๆ โดย การแนะนำสิ่งที่จะนำเสนอ อาจจะเป็นเรื่องย่อ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น การเร้าความสนใจ หรือเน้นจุดที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ผู้เรียนมีเป้าหมายในการฟังหรือดูสิ่งที่ผู้สอนนำเสนออันจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ดีได้ 
4. การนำเสนอ / ควบคุมชั้นเรียน  ผู้สอนที่ทำหน้าที่ผู้เสนอสื่อการเรียนการสอนนั้น ในการนำเสนอควรปฏิบัติดังนี้
4.1 ต้องทำตัวเป็นตัวกลางที่จะทำให้การนำเสนอครั้งนั้นประสบความสำเร็จ  โดยการทำตัวให้เป็นธรรมชาติ หลีกเลี่ยงท่าทางที่ไม่เหมาะสมที่ติดเป็นนิสัย เช่น หักนิ้ว บิดข้อมือ กดปากกา เพราะจะทำให้ผู้เรียนสนใจ ท่าทางเหล่านี้แทน
4.2 ท่าทางการยืน ต้องยืนหันหน้าให้ผู้เรียน ถ้ายืนเฉียงก็ต้องหันหน้าหาผู้เรียนไม่ควรหัน ข้างหรือหันหลังให้ผู้เรียน
4.3 ขณะที่บรรยายนำเสนอสื่อการเรียนการสอนต้องสอดแทรกอารมณ์ขันบ้าง
4.4 ประเมินความสนใจของผู้เรียน โดยใช้การกวาดสายตามองผู้เรียนให้ทั่วทั้งชั้นซึ่งเป็นการแสดงความสนใจผู้เรียน และวิเคราะห์สีหน้า ท่าทางของผู้เรียนไปพร้อมกัน
4.5 อย่าใช้เวลาเตรียมสื่อนานเกินไป จะทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่าย
4.6 นำเสนอให้ถูกวิธีตามที่ได้มีการทดลองใช้มาก่อนแล้ว
ในการใช้สื่อ ครูต้องสังเกตความพร้อมของผู้เรียน รวมไปถึงลักษณะสำคัญต่างๆ เช่น หากผู้เรียนสายตาสั้น หรือ มีการมองเห็นที่ไม่ชัดเจน สื่อที่ใช้ควรมีรูปภาพขนาดใหญ่ หรือเสียงประกอบที่ชัดเจน จัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ควรเรียนในห้องที่เงียบสงบ เพราะหากมีเสียงรบกวนมากเกินไป จะทำให้เด็กเสียสมาธิได้ ครูจะต้องเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี จัดของให้พร้อมสำหรับการใช้งาน หากสอนเด็กพิเศษ ครูจะต้องใส่ใจมากๆ รู้ว่าเด็กชอบหรือไม่ชอบอะไร เช่น ชอบไดโนเสาร์ สิ่งที่ครูควรทำคือนำไดโนเสาร์เป็นส่วนประกอบของสื่อ เพื่อดึงดูดความสนใจเด็ก เป็นต้น 

5.Require learner participation  การกำหนดการตอบสนองของผู้เรียน

การใช้สื่อในการเรียนการสอนแต่ละครั้ง ผู้สอนต้องจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนให้มากที่สุด โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถ ตอบสนองโดยเปิดเผย ( overt respone ) โดยการพูดหรือเขียน และการตอบสนองภายในตัวผู้เรียน ( covert response ) โดยการท่องจำหรือคิดในใจ เมื่อผู้เรียนมีการตอบสนองผู้สอนควรให้การเสริมแรงทันที เพื่อให้ผู้เรียนทราบว่าตนมีความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้องหรือไม่ โดยการให้ทำแบบฝึกหัด การตอบคำถาม การอภิปราย หรือการใช้บทเรียนแบบโปรแกรม
ในกรณีของน้องเอ ที่ผู้เขียนยกตัวอย่างไปนั้น ผู้เรียนมีปัญหาในด้านของการอ่านคำควบกล้ำ ซึ่งหากเด็กทำได้ดี หรือ่านคำได้มากขึ้น ผู้สอนควรรีบให้การเสริมแรง แต่ไม่ควรให้มากเกินไปหรือมากเกินความสามารถ การเสริมแรงทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นคำชม ท่าทางการยินดี หรือขนม ของรางวัลต่างๆ สิ่งนี้จะทำให้ผู้เรียนมีกำลังใจในการเรียนมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญ เมื่อเด็กทำผิดพลาด ครูควรชี้จุดบกพร่องและให้คำแนะนำในการพัฒนาตนเอง รวมถึงการพูดคุยกับผู้ปกครอง เพื่อหาแนะนำแนวทางในการสอนเด็กที่บ้าน ร่วมพูดคุยถึงปัญหาและพัฒนาการของเด็กต่อไป

6.Evaluate and revise  การประเมินการใช้สื่อ
หลังจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแล้ว จำเป็นต้องมีการประเมินผลกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ช่วยให้ผู้สอนทราบว่า การเรียนการสอนบรรลุวัตถุประสงค์มากน้อยเพียงใดสิ่งที่ต้องประเมินได้แก่
1.การประเมินผลกระบวนการเรียนการสอน จะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงและพัฒนาวิธีการสอนและการใช้สื่อการเรียนในครั้งต่อ ๆ ไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.การประเมินสื่อและวิธีการเรียนการสอน เพื่อให้ทราบว่าสื่อและวิธีการสอนที่ใช้มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ ช่วยให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นหรือไม่ การประเมินผลสื่อการเรียนการสอนควรให้ครอบคลุม ด้านความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนการสอน ด้านคุณภาพของสื่อ เช่น ขนาด รูปร่าง สี ความชัดเจนของสื่อ
3.การประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ว่าบรรลุตามวัตถุประสงค์แต่ละข้อที่กำหนดไว้มากน้อยเพียงใด

สื่อที่ดีไม่ใช่แค่เพียงรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น แต่ต้องเป็นสื่อที่มีคุณภาพ สามารถใช้สอนเด็กได้จริง ครูต้องทำการประเมินทั้งตัวผู้เรียน ตัวครูและสื่อการสอน ว่ามีประสิทธิภาพในการพัฒนาผู้เรียนหรือไม่ ซึ่งสามารถทำได้โดยการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน เมื่อทดสอบแล้วนำผลการเรียนมาเปรียบเทียบกัน หาข้อผิดพลาด และจุดเด่นของนักเรียน หากผู้เรียนไม่เกิดการพัฒนา ครูจะต้องวางแผนการสอนใหม่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนสื่อที่ใช้ ให้มีความเหมาะสมกับบทเรียนและสภาพของผู้เรียนมากขึ้น 

สรุป

        จากรูปแบบจำลอง The ASSURE model จะเน้นถึงการวางแผนการใช้สื่ออย่างเป็นระบบในสภาพของห้องเรียนจริง เพื่อให้ผู้สอนสามารถนำรูปแบบจำลองนี้ มาใช้วางแผนการสอนได้อย่างมีประสิทธิผล ถ้าหากผู้สอนสามารถดำเนินการได้ตามกระบวนการได้ถูกต้องทุกขั้นตอนจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี


อ้างอิงจาก
Kanokphan Kanthachan.(2554). The ASSURE Model การใช้สื่อการสอนอย่างเป็นระบบ โดยใช้แบบจำลอง. สืบค้นวันที่ 1 เมษายน 2560 จาก :

ความคิดเห็น